วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ผลการปล้ำอย่างเป็นทางการของเจ้ากรดแดงลูกดู่ยักษ์...

ผลการปล้ำอย่างเป็นทางการของกรดแดงลูกชายดู่ยักษ์ ลูกเพาะชุดแรก จากรายละเอียดกระทู้ด้านล่าง เจ้ากรดแดงลูกดู่ยักษ์หลังจากได้ทดสอบหนึ่งครั้งผมว่าผ่าน แล้วจึงส่งมาให้พี่ชายเลี้ยงที่ นนทบุรี เพื่อเป็นแบบทดสอบวัดผลจริงเสียที หลังจากที่ส่งมาถึงที่ นนท์แล้ว ปรากฎว่าอู้งานป่วย คอดัง ขี้เขียวขี้ขาวอยู่ สองสัปดาห์ กว่าจะรักษาหายเป็นปกติ แล้วจึงได้เริ่มเช็ดเนื้อเช็ดตัว ออกกำลังกาย หนึ่งสัปดาห์ สัปดาห์ต่อมาปล้ำนวมกับไก่เชิงหนึ่งอัน ทางพี่ชายแจ้งว่าชั้นเชิงก็เหมือนกับที่เคยเห็นปล้ำครั้งแรก เป็นไก่หนุน ๆ ถอด ๆ จังหวะที่คุมได้ก็คุมตีหัวต่ำได้....
เลี้ยงต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์ จึงอุ้มไปปล้ำที่ซุ้มทนาย.. ซอยสนามบินน้ำ พอไปถึงทางเจ้าของซุ้มบอกว่าปล้ำแขวนหางกันสามอันห้าร้อยไปเลย พี่ชายบอก เอาล่ะสิ ไก่ยังไม่ได้ปล้ำเลี้ยงอะไรมาสักเท่าไหร่เลย เลยบอกไปว่าขอสองอัน อันละร้อยแล้วกัน เพราะว่ากลัวไม่ไหวจะได้จับ แต่ว่าทางฝ่ายทนายไม่ยอมจะเอาตามนั้น พี่ชายเองก็ลังเล แต่ว่ามีพรรคพวกแถว ๆ นั้นบอกช่วยกันคนละนิดละหน่อย ก็ได้ห้าร้อย บอกเอาไปเลย ไม่ไหวก็จับ แบ่งเงินค่าแขวนหางคนละห้าสิบ คนละร้อย เอาก็เอาวะ ว่างั้น
เปรียบเทียบประวัติและ สถิติ
เจ้าแดงปล้ำหนึ่งครั้ง ตอนอยู่ร้อยเอ็ดสิบห้านาที กับ นวมเต็มอันหลังจากหายป่วย วันนี้ได้ตอยาวกว่าหน่อย ได้ เปรียบรูปร่างประมาณ 5-4
คู่ต่อสู้ปล้ำมามากกว่า เนื้อหนังดีกว่า อายุน่าจะไล่เลี่ยกันแต่น่าจะดีกว่าเจ้าแดง เป็นตัวไล่ท้า
เมื่อปล่อยหางเข้าไป คู่ต่อสู้เข้ามาในลักษณะของไก่เชิง ๆบน ๆ น่าจะเป็นลูกผสมพม่า -ไทย มีเลี้ยวมีคุม มีตีตัว เจ้าแดงเองเป็นตัวหนุน ถอด ตีรัดล่างไล่ขึ้นบน หากโดนบังคับก็กัดบ่าตีตัวแก้ไข เวลาผ่านไปห้านาทีเจ้าแดงเป็นตัวหนุนตีอยู่ตัวเดียวเป็นไก่ที่คู่ต่อสู้ถ้ามาสไตล์บน ๆ จะตีเจ้าแดงไม่ถนัดเลย แผลหน้าคางแผลหูของคู่ต่อสู้เริ่มมาเพราะว่า เจ้าแดงขึ้นทีเป็นแทงด้วยตอทั้งนั้น เมื่อคู่ต่อสู้แผลเริ่มอื้อ ราคาตอนนี้ เอาเจ้าแดง ต่อสองก็มีจับกัน ที ยี่สิบ ห้าสิบกันประปราย เวลาผ่านไปเจ้าแดงก็ตีได้เรื่อย ๆ แผลแทงย้ำ ๆที่เดิม ก็เริ่มส่งผล คู่ต่อสู้หูแตก อาการเริ่มอ่อนให้เห็น ราคาตอนนี้ไหลไป ห้า สักพักไปสิบ เข้าสู่ช่วงนาทีที่ สิบกว่า ๆ จังหวะที่เจ้าแดงตีย้ำไปเรื่อยและจับได้ถนัด ๆ บินตีเข้าหูเต็ม ๆ คำ คู่ต่อสู้ร้องวิ่งโดดสังเวียนพักหนึ่ง พอหักหายขัดกลับมาชนแข็งแรงอีกครั้ง ตอนนี้ราคาไปยี่สิบ ฝั่งเราออกตัวกางมุ้งกันยุงกัด บังไปขุมละ สิบบาท ยี่สิบบาทสบายไป ฮ่า...
พอคูต้อสู้เข้ามาสู้กันอีกครั้งก็เริ่มช้า ๆ เป็นโอกาสเจ้าแดง ฉายเป็นชุด ๆ เบิ้ลแข้งเข้าหน้าคาง เข้าหูและเป็นการขึ้นตีด้วยตอเดือยล้วน ๆ คราวนี้คู่ต่อสู้วิ่งโดดสังเวียน แต่ฝั่งตรงข้ามบอกว่าหักขัด เอาลงมาสู้ใหม่ คราวนี้พอปล่อยลงมาโดนเจ้าแดงเติมอีก ชุดใหญ่ ๆ วิ่งร้องไม่สู้หน้าในนาทีที่ 18 ก่อนจมอัน 2 นาที เก็บเดิมพันครั้งแรกในชีวิต อย่างไม่เป็นทางการ แบบสวยงามประทับใจ ม้วนเดียวจบแบบพลิกความคาดหมายนิด ๆ
จากการประลองแขวนหางในครั้งนี้ สิ่งที่ได้เห็นจากเจ้าแดง พอสรุปได้ว่าเป็นไก่สไตล์ หนุนหน้าคาง ถอด ตีรัดล่าง แผลกระเดือก หน้าคาง หู ชัดเจน และ ย้ำแผลด้วยตอเดือยตลอด ลูกแก้ไขเวลาโดนคุมมาก ๆ มีกัดบ่าตีรัดตัวแรง ๆ ที่สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจเล็ก ๆ ของคนเพาะไก่ หลังจากที่ไก่ชุดนี้ไม่ได้หวังผลและไม่เคยคาดหวัง วันนี้ลูกเพาะ ลูกครึ่งพม่าร้อย บวกแม่สายเชิงอีสานดั้งเดิม ได้แสดงให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนา ก้าวแรกเล็ก ๆ กำลังจะเยื้องย่างไปข้างหน้าต่อไป...
ภาพเจ้าแดง...

แข้งหน้าเล็ก ๆ เรียว ๆ เกล็ดสองแถว

แข้งหลังกับเดือย แทง ๆ ๆ


รอฟังผลการปล้ำซ้อมครั้งต่อ ๆ ไป คนเลี้ยงคาดหวังและตั้งเป้าหากมีการพัฒนาที่ดี หวังได้ไปสนามมาตรฐานต่อไป บทพิสูจน์บทแรกของลูกเพาะยังคงท้าทายต่อไป

คลิปปล้ำครั้งแรกครับ...

คลิปต่อครับ...

อัพเดท ๐๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ทางพี่ชายได้เอาเจ้าแดงฝากให้ ลุงส่างสนามบินน้ำ เลี้ยงให้ เนื่องจากมีเวลามากกว่าพี่ชายที่ทำงานกลางคืน มีเวลาไม่มาก หลังจากที่ลุงเลี้ยงได้สองสัปดาห์ ก็เอาไปปล้ำที่เดิม กติกาคือแขวนหาง สามอันห้าร้อยเช่นครั้งแรก คราวนี้เจอกับไก่เชิง ๆ คุมบนหัวสูงได้เปรียบรูปร่างเรานิดหน่อย เราก็เป็นตัวหนุนตี กัดบ่าตีตัวสลับเหมือนเดิม คู่ต่อสู้เองก็เป็นไก่เก่งอีกตัวหนึ่ง เก็บไก่มาไม่เต็มสองอันหลายตัวก่อนหน้านี้ ครั้งนี้เราได้ตำแหน่งดี หนุนหน้าคอ ช่วงออกห่างมีลูกหน้าตรงชุดละสอง สาม แล้วโดนทุกครั้งด้วยตอเน้น ๆ ไก่ตัวนี้เป็นไก่ที่บินตีได้แรง แล้วแทงด้วยตอจริง สังเกตจากการปล้ำครั้งแรกที่อยู่กับผมแข้งขาอ่อน ๆ เพิ่งจับออกจากฝูงแล้วปล้ำเลย ยังโชว์ความแม่นให้เห็น ส่วนจากการปล้ำแบบพันพลาสเตอร์นั้น ตอจะทะลุต้องเปลี่ยนเทปทุกครั้งเป็นไก่ที่แทงใด้จัดจ้านดี ไม่ใช่ตีด้วยปลายตอลำเบา ๆ แต่บินได้สุดปีกสุดหางตีแรง ครั้งนี้เช่นเดิมหมดอันแรกราคายังไม่หนีกัน คู่ต่อสู้ก็ยังคุมบนตีได้ เราก็แอบชิงจังหวะตีได้ดี เข้ามาอันสองเราได้ตีมากขึ้นค่ต่อสู่เริ่มมีอาการคอแข็ง แต่ว่าก็ตอบโต้มาได้เรื่อย ๆ เราจังหวะฉายชุดใหญ่ ๆ ปลาย ๆ อันเริ่มแย่ เข้าอันที่สามอันสุดท้ายที่ตกลงตีกัน คู่ต่อสู้เริ่มหัวต่ำลงมาเลยเป็นโอกาสให้เจ้าแดงจับได้ถนัด ๆ จัดไปอีกชุดใหญ่ ๆ คู่ต่อสู้ทนไม่ไหววิ่งหนีโดดสังเวียน เอาเข้ามาก็ไม่สู้หน้าร้องแพ้ในที่สุด ก็เป็นอีกครั้งที่เก็บคู่ต่อสู้ได้อย่างประทับใจ ตอนนี้ซุ้มใหญ่แถวนั้นได้ข่าวและเห็นว่าอยากได้ไปเลี้ยงออกเหมือนกัน พี่ชายติดที่เกรงใจลุงส่างคนเลี้ยง เลยยังไม่ได้ให้ไป ต้องรอดูครั้งต่อไปที่จะหาประสบการณ์แถว ๆ นั้นไปก่อนรอให้แข็ง หากมั่นใจอาจจะมีวาสนาได้ไปเจ็บตัวแถว สนาม อตก.

วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เคราน้อยกระดุมเพชร...

ได้แบ่งสายพันธุ์มาจากคุณ เอ๋ (กีฏ นคร) ตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ ประมาณ ห้าเดือน อยากลองได้สายพม่ามาไว้พัฒนาดูบ้าง เจ้าเคราน้อยกระดุมเพชรเรียกเล่นๆ เพราะว่าทรงคล้าย ๆ เหล่าดังกระดุมทอง ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด เจ้าเป็นพม่าร้อย รอยเล็ก ๆ ปัจจุบันนี้ ขนเต็มแล้วร่างยังเล็ก ๆ อยู่น่าจะประมาณ 2.4-2.5 ได้ ยังไม่ได้ลองกับไก่ด้วยกัน แต่ว่าสู้มือเจ้าของทำเชิงเหมือนหัวโยก ๆ ล่าง และเอียง ๆ ออกข้างดีดเตะ
สายนี้มีม้าล่อหลุดออกมาให้เห็นเรื่อย ๆ เจ้าเคราฯ มีที่มาที่ไปคือ
แม่สายเชียงตุงผสมกับสิงห์เหนือ ส่วนพ่อคือมังกรแดงครับ
สายนี้ที่มาตามที่คุณ เอ๋ เพาะออกมานั้น จะเด่นที่เบอร์แข้งหนัก แข้งหน้าจัด และ แผลตา หนีปีกเก่ง อาจจะมีหลุดม้าล่อออกมาบ้าง.......
หน้าตารูปร่างเจ้าเครากระดุมเพชร หน้าตารูปร่างอ้างอิงไก่ดังในตำนาน :)

กลับเมืองไทยครั้งนี้คงได้ลองเชิงได้เห็นแล้วว่าจะเป็นอย่างไร...

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เคราน้อย ลูกเจ้าหวายตาเดียว...

เคราน้อย เป็นครอกเดียวกันกับเจ้าหวายน้อย ครอกชายใหญ่ เหลือกันสองตัว ตัวนี้เคราเหมือน ๆ กันกับพ่อ แต่ว่าสีออกเหลือง ๆ ไปทางสายแม่ เป็นคู่กรณีที่ทะเลาะกันกับเจ้าหวายน้อย ชั้นเชิงเพลงตีแบบเดียวกันไม่แตกต่าง กัดบ่าตี ตีตัว ตีหลัง ตีขึ้นหัวทั้ง ๆ ที่กัดบ่ากัดหัวปีก ที่สำคัญตอนเด็ก ๆ ที่เห็นทะเลาะกัน บินแรงลำเกินตัว สักหน่อยคงได้ลอง ได้ลุ้นยาว ๆ ว่าจะได้อย่างที่เห็นตอนเด็ก ๆ ไหม...
หน้าตาคล้าย ๆ พ่อ มีเคราเหมือน ๆ กันแต่ว่าเป็นคนละสีกัน

หวังจะได้สืบทอดตำนานไก่ตีตัวอย่างที่พ่อได้ฝากผลงานผ่านไฟต์สนามมาตรฐานมาได้ด้วยลูกตีตัวล้วน ๆ

หวายน้อย(หวายดีเซล) ทายาทเจ้าหวายตาเดียว...

เป็นลูก ๆ เจ้าหวายตาเดียวชุดแรก ที่เพาะเข้ากับแม่ไก่เชิงสายอีสาน ซึ่งลูก ๆ ชุดนี้เห็นทะเลาะกันตอนเด็ก ๆ ที่เห็นคือกัดบ่าตีตัวตีหลังกัน ใกล้เคียงสไตล์ของพ่อชุดนี้มีสีหวายออกมาสองตัว มีสีเหลือง ๆ คางเคราหนึ่ง แต่ว่าตายซะหนึ่ง ตัวนี้สีออกคล้ายพ่อมากที่สุด แต่ว่าคางไม่มีเคราเหมือนพ่อ ก็รอลุ้นว่าปล้ำแล้วเชิงจะเปลี่ยนจากที่เห็นตอนเด็ก ๆ ไหม เชิงหลัก ๆ คือกัดบ่าตี ตีตัว ตีหลัง หลาย ๆ จังหวะ กัดบ่าแต่ว่าบินตีถึงหน้าคอ ถึงหัวก็มี หากเสียคอข้างหนึ่งจะถอดคล้าย ๆ พม่าแล้วมาเข้ากัดบ่าอีกข้าง...


หนุ่ม ๆ อ่อน ๆ ตอนนี้ปล่อยที่สุรินทร์ รอเวลาทดสอบ



หวังลึก ๆ ดูแล้วเหมือนพ่อมาก ๆ

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

บททดสอบลูกเพาะชุดแรก.....

ชุดนี้เป็นลูกดู่ยักษ์กับแม่ไก่เชิงสายอีสาน โดยส่วนตัวไม่คิดว่าไก่ลูกครึ่งคนละสไตล์อย่างดู่ยักษ์ซึ่งเป็นพม่าถอย แข้งหน้าจัด กับ แม่ไก่เชิงอีสานดั้งเดิม จะสามารถให้ลูกที่ออกมาได้ลงตัว ลูก ๆ ชุดนี้ที่ปล่อยผสม เป็นแม่ไก่เชิงเหล่าเดียวกันจำนวนสามแม่ ได้ลูกรุ่น ๆ เดียวกันทั้งหมดราว ๆ ยี่สิบตัว ตัวผู้ตัวเมียอย่างละครึ่ง ๆ ด้วยความที่ไม่ได้คาดหวังอยู่แล้วก็เลยบอกคนเพาะว่า ไม่ต้องเก็บไว้เพราะว่าไม่น่าจะออกมาดี สรุปแล้วส่วนมากก็ถูกประกอบเป็นอาหารในช่วงหน้านา เหลือเพียงสองตัวที่คนเพาะเสียดายเอาไปซ่อนไว้ที่อื่น คือเจ้าแดง กับ เจ้าเขียว เมื่อถึงเวลาเต็มหนุ่มก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เลยลอง ๆ จับไปปล้ำดู มาดูแต่ละตัวกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ตัวแรก เจ้าแดง

เจ้าแดงจะเป็นไก่รอยค่อนข้างโต โครงสร้างดี ประมาณ 3.1 ลำตัวยาวหน้าพิงกว้างหนา ออกทรงไก่ไทย ๆ แต่ว่าสีสันเป็นพม่า เจ้าแดงปล้ำครั้งแรกกับ ไก่ใหม่ ๆ เช่นกัน สีหวาย (สีสา)แต่ว่าปล้ำมาหนึ่งครั้งและทำเนื้อทำตัวมาบ้างแล้ว ในการปล้ำคู่ต่อสู้ออกลักษณะน่าจะเป็นลูกผสมพม่าไทย ชนออกเชิง ๆ คุมบน เจ้าแดงอยู่ตำแหน่งหนุนหน้าคาง จังหวะหลุด จะคว้าแล้วตีรัดล่างขึ้นบนมีเบิ้ลสองสามให้เห็น ต้นยกเจ้าแดงโดนตีหักสองครั้ง แต่ว่าด้วยตำแหน่งหนุน ๆ หัวดิ้นทำให้เอาตัวรอดได้ดี และ ยกแข้งวางแข้งได้แม่น ๆ คม ๆ แม้จะเป็นไก่ใหม่ ๆ เพิ่งจับจากฝูง ด้วยความพยายามและเหลี่ยมดีกว่าก็ตีสะสมเรื่อย ๆ บางจังหวะที่คู่ต่อสู้เข้ามาลึก ๆ เจ้าแดงก็มีกัดบ่าตีตัวแก้ไข มีทรุดให้เห็นเหมือนกัน แผลที่เจ้าแดงวาง เป็นแผลรัดล่างไล่ขึ้นบน คือ บริเวณคอน้อย ไล่ขึ้นหู สลับกับตีตัวบ้างในลูกแก้ไข ช่วยกลาง ๆ อันถึงปลายอันเจ้าแดงเริ่มตีได้มากขึ้นและ ย้ำแผลเดิม ๆ คู่ต่อสู้เริ่มคอแข็งอย่างเห็นได้ชัด ปลาย ๆ อันตีย้ำหน้าคอ กระเดือก และบ้องหูไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งโดนแข้งเจ้าแดงเข้าจัง ๆ ถึงกับหักร้อง แต่ว่าก็ยังกลับมาสู้กันได้ต่อ จบการปล้ำครั้งแรกเต็มหนึ่งอันแบบเจ้าแดงดูดีกว่า ไม่ได้เจ็บอะไรมากนักมีเพียงอาการเพลีย ๆ เพราะว่าไม่เคยปล้ำมาก่อน ถือว่าสอบผ่านเพราะว่าด้วยสภาพที่เป็นไก่ใหม่ ๆ แต่ว่าแสดงให้เห็นถึงลักษณะการวางแข้งที่แม่นยำ ย้ำแผล มีลูกแก้ไข บางจังหวะมีเบิ้ลแข้งถึงเจ็ดแข้งแบบโดนทุกเม็ดก็มีให้เห็นในครั้งนี้ หากคู่ต่อสู้เข้ามาหัวต่ำ ๆ ก็ตีได้เจ็บ ๆ ดี ถือว่าเป็นไก่ลูกผสมพม่า เชิง ที่ทำผลงานได้น่าแปลกใจหลังจากที่ไม่ได้คาดหวังเลย

ตัวที่สอง เจ้าแมงภู่

ส่วนอีกตัวคือ เจ้าเขียว (แมงภู่) เป็นไก่ที่ผสมชุดเดียวกัน แต่น่าจะเกิดทีหลังเจ้าแดงอยู่บ้าง ดูจากลักษณะขนที่สุดทีหลังเจ้าแดง พิกัดน้ำหนักประมาณ 2.8 เป็นไก่จับสวยไม่โตไม่เล็กเกินไป เจ้าแมงภู่ ปล้ำให้หลังจากเจ้าแดงปล้ำหนึ่งเดือน โดยปล้ำกับไก่แถว ๆ บ้านเป็นไก่ใหม่ไม่เคยปล้ำเช่นกัน คู่ปล้ำเป็นไก่ลักษณะพม่าสีหวาย(สีสา) ได้เปรียบรอยเจ้าแมงภู่มากทั้งความสูง ยาว และ น้ำหนัก และ รอย ประเมินน้ำหนักไม่น่าจะต่ำกว่า 3.0 แต่ว่าใหม่ ๆ ด้วยกันหาคู่ปล้ำไม่มีเลยอยากลองดูหากไม่ไหวก็จะจับไว้ปล้ำในครั้งต่อไป เมื่อปล่อยหางเจ้าหวายเป็นตัวเดินเข้ามา เจ้าแมงภู่ออกสไตล์ไหลหัวออกข้างหลบแล้วแง้มหน้าคางบินวางแผลบริเวณคอน้อย เจ้าหวายก็ยังเดินบี้เข้ามาด้วยลักษณะแล้วน่าจะเป็นลูกผสมไก่เชิงเดินบดเดินบี้ เจ้าแมงภู่ก็เอาตัวรอดด้วยการถอยฉากดักยิงรัดหน้าคอขึ้นหูเน้น ๆ แรง ๆ บางจังหวะ เจ้าหวายเข้าปีกก็มีอึดอัดเปิดปีกวิ่งออกให้เห็น ลูกที่เข้ามาหน้าตรง ๆ เจ้าแมงภู่ปากไวกว่าจับยิงหน้าตรงได้จัง ๆ ทำให้เจ้าหวายทรุดหลายครั้ง แต่เจ้าหวายก็ยังเดินบดเดินบี้อยู่ตลอด ก็ยังทำไรไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน เจ้าแมงภู่จะชิงจังหวะยิงแข้งหน้าก่อนเสมอและโดนแทบทุกครั้ง แต่ด้วยอาศัยรูปร่างที่ได้เปรียบเจ้าหวายก็เดินกระแทกเข้ามาไม่หยุด มีจังหวะที่ตีเจ้าแมงภู่ได้ก็ลูกขว้างแข้งเปล่าบ้างเท่านั้น เจ้าแมงภู่เป็นไก่หัวดิ้น หากเจ้าหวายจับหัวได้ตรง ๆ จะดึงหัวกลับและดิ้นจนหลุดหรือทำให้เจ้าหวายตีไม่ถนัด หลายจังหวะเจ้าหวายมุดช้าจะเข้าปีก เจ้าแมงภู่จับหัวบินตีลงล่างได้ชัดเจนเจ็บ ๆ เป็นไก่ที่ตีหัวต่ำได้ชัดมาก ๆ ซึ่งเป็นจุดเด่นในทางสายแม่ไก่เชิงอีสานชุดนี้นั่นเอง ตลอดการปล้ำ15 นาที เจ้าแมงภู่แสดงการเอาตัวรอดจากการปล้ำเสียเปรียบได้เป็นอย่างดีแทบไม่เจ็บตัว แต่ว่ามีอาการเพลีย ๆ เวลาโดนบี้บ้างเท่านั้น แต่ว่าก็เอาตัวรอด และ ตอบโต้ได้เจ็บ ๆ ต่างจากอาการเจ้าหวายซึ่งโดนไปหลายหักเจ็บมากพอดู แผลชัดเจนคือ บริเวณหู และคอน้อย ถือ ว่าเป็นการปล้ำเต็ม ๆ รูปแบบที่น่าประทับใจทีเดียว ก่อนหน้านั้นปล้ำกับใหม่ ๆ เหมือนกันได้ประมาณห้านาที ชนอีกสไตล์คือคุมบนตีข้อหัว ตีได้ชัด ๆ ไม่กี่ลำคู่ต่อสู้ออกอาการหักให้เห็นต้องพอ เพราะว่าไก่ใหม่ ๆ ด้วยกันทั้งคู่ สรุปเท่าที่เห็นเจ้าแมงภู่เป็นไก่ที่มีลักษณะคุมบนได้ ถอดถอยหนุนเอาตัวรอดแบบพม่าได้ เบอร์แข้งดูจะลำโตกว่าเจ้าแดง ชั้นเชิงภาพรวม ๆ จะเหนือกว่าเจ้าแดงอยู่บ้าง ซึ่งเป็นไก่ที่ชนได้หลายสไตล์กว่า เอาตัวรอดได้เนียนกว่า

การวัดผลสำหรับลูกเพาะชุดแรกแบบไม่ได้ตั้งใจ พอใจในระดับหนึ่งทำให้เห็นแนวทางการพัฒนา ระหว่างพ่อพม่ากับ แม่ไก่เชิง ชุดนี้เอาตัวรอดใช้ได้ เบอร์แข้งถือว่าค่อนข้างดี ความแม่นผ่าน ตีหัวล่างได้ดี ตำแหน่งล่างได้บนได้ แต่ไม่ได้พลิ้วเหมือนพม่าร้อย หรือ ไม่ได้เชิงจัดจ้านแบบไก่เชิงทั่วไป

ตอนนี้สองตัวถูกส่งไปทดสอบเลี้ยงในซุ้มเพื่อลองออกชนจริง เจ้าแดงให้พี่แก๊ด พี่ชายเลี้ยงไว้ที่สนามบินน้ำ นนทบุรี ส่วนเจ้าแมงภู่ ให้ลุงต้อย เด็กนอก ที่บางแค ลองเอาไปเลี้ยงดูเช่นกัน หากได้ผลอย่างไรคงเห็นแนวทางการพัฒนามากขึ้น

วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ลูกเพาะที่ชัยนาท...

อีกส่วนหนึ่งไก่ที่ได้เพาะพัฒนานั้น อยู่ที่ สรรค์บุรี ชัยนาท กับน้องที่ทำงานที่เดียวกัน สามาส เด็กหนุ่มที่รักไก่ชน และ รักไก่เชิงไทยมาตลอด ถึงจะมีเล่น เลี้ยงพม่าเข้ามาบ้าง แต่ส่วนใหญ่หลัก ๆ ไก่ที่บ้านนี้จะเพาะแต่ไก่เชิงเท่านั้น ชุดที่ได้จัดแม่ไก่ไปให้เพาะนั้น เป็น แม่ป่าก๋อย ที่ได้มาจาก คุณ กุ๊ก คนพันทาง และ พี่ไกร ประดู่ไทย สระแก้วเป็นแม่ไก่เหลืองหางขาว
พ่อไก่ที่เพาะชุดนี้นั้นเป็นพ่อไก่เหลืองหางขาว ผมเรียกเป็นเกียรติกับเจ้าของไก่ ว่า เจ้าสามารถ ชื่อพ้องกับเจ้าของ แต่ว่าเหมือนกับนักมวยในดวงใจ พี่ มารถ แหบ อัจฉริยะ พ่อไก่ตัวนี้เป็นไก่ไม่มีไฟต์ติดตัว แต่ว่าเจ้าของคิดอย่างไรถึงกล้าตัดสินใจเอามาทำพ่อไก่ ที่ไปนั้น พ่อไก่ตัวนี้เป็นไก่เหลืองหางขาวโทนสีเหลืองใหญ่ที่สวยงามมาก ถึงจะไม่ใช่ไก่ระดับสนามประกวดแต่ว่าถือได้ว่าเป็นไก่เหลืองหางขาวเต็มสูตรอีกหนึ่งตัวมีหางขาวปลอดอยู่หนึ่งเส้นเป็นหางชัย เมื่อครบอายุ พอที่จะปล้ำได้ ก็ลองปล้ำดูกับทั้งไก่ไทย และ พม่า ปรากฎว่า สามารถเก็บได้ทั้งไก่ไทยเชิง และ ไก่พม่า โดยที่มันไม่เจ็บตัว เป็นไก่เชิง ปากไว ลำพอประมาณ ไม่ถึงกับโต แต่ว่าแทงจริง ทั้งหมู่บ้านเลยลงความเห็นว่าไก่ตัวนี้สมควรที่จะทำพ่อไก่อย่างเดียว ไม่มีอะไรต้องสงสัยถึงแม้ว่าเป็นเกรดไก่ที่ชนได้ถึงสนามใหญ่ แต่สรุปแล้ว ผสมเอาลูกดีกว่า ผมเองได้ข่าวจึงเป็นธุระหาตัวเมียเหลืองหางขาวสายตีเพื่อผสมพันธุ์ เพราะว่าไม่ได้ต้องการแค่ความเก่งอย่างเดียว แต่ว่าต้องการสืบสานลักษณะความสวย และ เก่งมาด้วย แม่ไก่เหลืองหางขาวสายตีที่มีคุณสมบัติที่ต้องการไม่ได้หาง่าย ๆ นัก สุดท้ายได้ความ อนุเคราะห์จาก คุณ กุ๊ก เป็นแม่ก๋อย ชื่อว่า แม่ แบลคเลเบิ้ล (ชื่อนี้มีที่มา คุณ กุ๊กให้มาทับฟรี ๆ ไม่คิดราคาค่างวด เลยหิ้วแบลคเลเบิ้ล จากร้านปลอดภาษีดาวเรืองไปฝาก) อีกสองแม่ คือ แม่เหลืองปากขาว กับ แม่เหลืองปากดำ พี่ไกร นายประดู่ไทย ผู้พัฒนาสายพันธุ์ประดู่หางดำให้มา ทราบว่ามีเหลืองหางขาวสายเดียวเท่านั้นที่ได้อยู่บ้านนี้ก็เลยไม่ต้องสงสัยอะไรอีก เลยจัดการส่งสาว ๆ ทั้งสามไปอยู่ที่ชัยนาท ตั้งแต่ช่วง กลางปี 2551 เป็นต้นมา
มาดูความคืบหน้าและผลผลิตของ สามารถ และ แม่ไก่กัน
เริ่มจากเจ้าสามารถ
รูปร่างหน้าตา หล่อ เก่ง
โชว์หุ่น

ลูกชุดแรกของเจ้า สามารถ คือ เจ้าเหลือง ลูกแม่เหลืองปากดำตัวนี้ ปัจจุบันปล้ำไปแล้วสองครั้ง อยู่ในช่วงหลุดแซม ผลการปล้ำน่าพอใจในระดับหนึ่ง เป็นไก่เชิง ๆ คุมบน ลูกตีแม่น ตีเจ็บใช้ได้ แต่ว่าความไวยังน้อยไปนิด ปล้ำสองครั้งน๊อคคู่ต่อสู้ไม่เต็มอันทั้งสองครั้ง

ตัวต่อมาชุดแรก คือ เจ้าจิ๋ว ลูกชายแม่ แบลคเลเบิ้ล ตอนเด็ก ๆ ไม่ค่อยแข็งแรง พี่น้อง ๆ ที่สวย ๆ ตายหมด มีเหลือตัวเดียวซึ่งรอดมาก็แกร็น แต่ว่าสภาพน้ำขนดีมาก ๆ ครั้งแรกที่ปล้ำกับ ไก่ไทยเชิงด้วยกันตอนหนุ่ม นั้น น้ำหนักเพียงไม่ถึง 2.4 คู่ปล้ำน่าจะ 2.7 ปล้ำได้หนึ่งอัน ดูไม่ค่อยดีตามประสาไก่เล็กปล้ำไก่ใหญ่ แต่แสดงออกถึงความพยายามให้เห็น มีคาบบ่าตีตัว ตีซอก ได้บนตีชัด ๆ ลำโตเกินตัว บางจังหวะมีเบิ้ล แต่ว่าแรงปะทะสู้ไม่ได้ และ ขึ้นลำบาก

หลังจากปล้ำครั้งเดียวก็หลุดแซม หลังจากแซมเต็มแล้วนั้น น้ำหนักขึ้นมา สองขีด ได้ 2.5 ลองปล้ำดูกับพม่า ตัวเท่า ๆ กันอายุไล่เลี่ยกัน เจ้าจิ๋วแทงตัวซะเดี้ยงไม่เต็มอันต้องจับ ครั้งที่สอง ลองกับพม่าอีกเช่นกัน เจ้าจิ๋วใช้เวลาอันกับประมาณห้านาที ตีคู่ปล้ำร้องคาแข้ง อันแรกขึ้นบนไม่ได้ให้การคาบแทงตัว แทงซอก แล้วไล่ขึ้นบน เข้าอันสอง คู่ต่อสู้เริ่มให้หัว เจ้าจิ๋วตีไม่กี่แข้งหูตาปริบร้องออกปาก สภาพปัจจุบันหลังแซมเต็มก่อนการปล้ำครั้งที่สอง สถานภาพปันทำเนื้อทำตัวเพื่อปล้ำ และ วางโปรแกรมออกชนเร็ว ๆ นี้

มาดูชุดน้อง ๆ อีกรุ่นกันบ้าง ชุดนี้เป็นลูกแม่เหลืองปากขาวมีอยู่สามตัวที่สู้กล้อง ตัวที่ดูเด่นที่สุดคือตัวหัวดอกลักษณะสีสันสวยดี


เจ้าตัวนี้โตกว่าเค้าเพื่อน 2.9 แล้วโครงสร้างปึกแผ่นดีมาก ๆ เป็นลูกแม่ เหลืองปากดำ โทนสีออกไปทางประดู่เลาหางขาว ไม่ออกเหลือง


ส่วนเจ้าตัวนี้ เป็นลูกชายแม่ก๋อย แบลคเลเบิ้ล ลักษณะรูปร่างออกมาสวย สมส่วนดี

ลูก ๆ แม่ แบลคเลเบิ้ล อีกชุดที่ไม่กล้าสู้กล้อง

นี่เป็นอีกหนึ่งสายของการพัฒนา ที่เน้นไปที่ไก่เชิงไทยเป็นหลักและ ที่ต้องการเห็นมาก ๆ คืออยากได้สายเลือดไทยที่เก่ง และ สวยด้วย ต้องติดตามประเมินผลกันต่อไปว่า ชุดที่สองจะเป็นอย่างไร จากการประเมินผลด้วยสายตาชุดนี้น่าจะพอยิ้มได้

วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ลูกเพาะชุดแรก...

ไก่ลูกเพาะชุดแรกที่เริ่มพัฒนาเมื่อต้นปีนี้ ลูกเพาะชุดแรกที่ออกมาเป็นพ่อพม่าผสมกับแม่ไก่ไทยเชิงอีสานดั้งเดิมแบบไม่ได้ตั้งใจ ลูก ๆ ชุดแรกออกมาหลายตัว แต่ว่าเหลือไว้แค่สองตัว เกิดจากพ่อคือ เจ้าดู่ยักษ์พม่าสายแม่สะเรียงรอยใหญ่ กับ แม่ มะลิเชิงไทยร้อย ที่เหลือคือเจ้าเขียว

อายุประมาณ เก้าเดือน เพิ่งสู้ไก่ตัวเมีย แต่ว่ามีพ่อไก่คุมฝูงอยู่

สีออกมาเป็นสีไปทางแม่ แต่ว่าหน้าตา หาง ไปทางพ่อ

ลองทดสอบดูเบื้องต้นแล้วสำหรับตัวนี้ เป็นไก่ตีออกเชิงไทย ๆ แต่ว่ามีลูกหน้าลำโตใช้ได้ ทดสอบแค่นิดเดียวปล่อยรออายุดี ๆ แล้วค่อยลองอีกครั้ง เป็นไก่เกี่ยวตีเอี้ยวตี ตีแผลหู ตีหัวล่างได้ ว่าจะเก็บไว้ทับกับแม่ไก่สายเชิงอีกครั้งเพื่อเชิงเนียนขึ้น และ ได้ลูกหน้าเสริม

วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

พลายงาม(เชิง)+สายหมอก (ก๋อย)

อีกหนึ่งสายที่อยากจะได้ไก่ที่ชนสไตล์เชิง+มีกัด เข้าไว ไม่แต่งตัว
พ่อ พลายงามเหลืองหางขาวสายเชิง
แม่สายหมอกป่าก๋อย เป็นลูกชุดแรก ต้องรอดูว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
ได้ลูกมาแปดตัวไป ๆ มา ๆ เหลือแค่ ห้าตัว


อยากจะได้จุดเด่นของสายทางพ่อคือชนเชิงดี เชิงเนียน

ให้เลือดป่าก๋อยทางแม่มาเติมเต็มในการพัฒนาให้ตีกับพม่าได้ดียิ่งขึ้น....

วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

ครอบครัวพม่ายักษ์

ครอบครัวพม่ายักษ์เป็นลูก ๆ ของเจ้าดู่ยักษ์นาแหลม จากเชียงใหม่
ลูก ๆ ชุดนี้มีตัวผู้หลุดออกมาสองตัว สีออกไปทางพ่อ ทั้งสอง และมีแววยักษ์เหมือนพ่อ
ยักษ์ ๑
ยักษ์ ๒

ตัวเมียสาวชุดพี่ของเจ้ายักษ์สองตัว ตอนนี้กำลังเพาะอยู่กับ เจ้าเพชรร้อยเอ็ดพม่าง่อนรอยใหญ่

ครอบครัวตีตัว

ไก่ชุดนี้ เป็นลูก ๆ ของเจ้าหวายตาเดียวตีตัว
ช่วงหนึ่งไปปล่อยคุมฝูงไว้กับแม่ไก่ไทยเชิงอีสาน สายเก่า ๆ
เจ้าหวายตีตัวครับ ได้มาสองไฟต์ สนามมาตรฐาน ก่อนจะปลดระวางเพราะเสียดวงตา
นี่เป็นลูก ๆ สองรุ่น สามชุดด้วยกัน ผมเรียกว่า ชุดชายใหญ่ กับ ชุดชายรอง....
รุ่นชายใหญ่ทั้งหมดมีสามตัว สองตัวจะออกสีสาเหมือนพ่อ ส่วนอีกตัวมีออกไปทางแม่ ทั้งหมดคางเครา เหมือนพ่อตอนหนุ่ม ๆ
ชายใหญ่ ๑ สีสันออกเป็นสีสาทางพ่อ
ชายใหญ่ ๒ สีสาเหมือนกัน
ชายใหญ่ ๓ สีสันออกไปทางสายแม่
รุ่นที่สอง ชุดชายรอง มีอยู่สองแม่ ชายรอง ๑
สีสันยังไม่เห็นออกทางพ่อ เป็นลูกแม่ด่าง แม่นี้ให้ลูกใช้ได้

ชายรอง ๒

สีสันออกทางสายแม่เช่นกัน เป็นลูกแม่สายหางเหล็กเป็นไก่สายเก่งอีกสายหนึ่งของบ้านนี้

ชุดนี้หวังเห็นออกมาตีตัวเหมือนพ่อมั่งก็พอ ชุดพี่ ๆ ที่อยู่กับเจ้าของเก่าที่แปดริ้วมีเก่งผลงานน่าพอใจ ก็ต้องรอดูผลงานน้อง ๆ ชุดนี้ คลิบนี้เป็นเจ้าชายรอง ๑ ทะเลาะกันกับตัวเมียชุดเดียวกัน
==========================

วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2552

เหลืองเชิง + ตราด/บราซิล

ครับครัวเหลืองหางขาวสายเชิง เพาะผสมกับแม่ไก่สองตอสายบราซิล
พ่อไก่คือ เจ้าพลายงาม เหลืองหางขาวไก่เชิง จาก บรบือ
เป็นไก่เชิงดีตีเจ็บ เชิงสนิท ที่สามารถตีกับพม่าได้
แม่ตาดำ เป็นไก่เชิงสาย สองตอ + บราซิล จากการพัฒนาของ พี่มาโนช Bazil Mn..
ลูก ๆ ชุดแรกนี้ได้มา สี่ตัว ตอนเด็ก ๆ ดำ ๆ ได้ไปทางแม่ทุกตัว
ป่วยตายไป ๑ ตัวเหลือ อยู่ ๓ ตัวปัจจุบัน ประมาณ ๓ เดือนกว่า ๆ เป็นตัวเมียซะ ๒ ตัว ตัวหนึ่งดำมาก เกือบออกลักษณะแสมดำเลย
ได้ตัวผู้ตัวเดียวพอโตมาพอที่จะมองว่าออกลักษณะเหลืองหางขาวมั่งแล้ว
ปีกไชขาวสร้อยเหลืองเริ่มแทงออกมา แสดงว่าได้ทางพ่อมาบ้าง
ชุดนี้คาดหวังจะเห็นไก่เชิงที่ออกมาตีกับพม่าได้แบบไม่ต้องหลบ
โดยต้นทุนทางพ่อ เป็นไก่เชิงดีเข้าชิดตลอดไม่มีแบ่ง มีเข้าปีกทุบตัว ทุบท้าย
สายแม่ต้นทุนทางสองตอเป็นไก่ชอบตีพม่าเช่นกัน มีวิ่งเข้ากัดบ่า มีตีตัว ตีหัวต่ำเก่ง ดุดัน
หวังสายเลือดบราซิลยกระดับความดุดัน จิตใจอาฆาต ความอึด และ แผลตีฝังแข้ง ตีหัวต่ำเก่ง

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

อัพเดทครอบครัวตัวแดง

ครับครัวตัวแดงนี้ เกิดจาการผสมระหว่าง เจ้าเพชรร้อยเอ็ด กับ แม่ หนูแดง
เพชรร้อยเอ็ดได้มาจาก น้าชนบท เสาไห้ จากการพัฒนาของ คุณ วัน ละอ่อนเชียงใหม่
แม่หนูแดง เป็นแม่ไก่พม่า มาจากเชียงใหม่ เพาะพัฒนาโดยคุณ วัน ละอ่อนเชียงใหม่เช่นกัน
เป็นลูก คริสเตียโน่ + แม่แพนเค้ก ตอนนี้กำลังฟักไข่ชุดแรกอยู่ สิ่งที่คาดหวังจากชุดนี้คือ
อยากเห็นลูกตีหนัก แม่น แข้งหน้าจัด เชิงโยก ขยับ ถอย ก็รอดูกันต่อไปว่าข้างหน้าจะเป็นไง
ฟักไข่ชุดแรกเก้าใบ

อัพเดทครอบครัวตัวดำ

เริ่มจากพ่อไก่หนุ่ม หยกดำ แสมดำ หนุ่มน้อยได้มาเพื่อพัฒนาสายพันธ์ เป็นไก่ประดู่แสมดำ โทนสี ประดู่แดง ตอนนี้อายุประมาณ ๑๑ เดือน สายตาไม่ดีหนึ่งข้าง แต่ว่าลักษณะของแสมดำบ่งบอกได้ดี พอที่จะสามารถนำมาพัฒนาได้ ส่วนอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ครบถ้วนก็ค่อย ๆ เติมค่อยแต่งไป
ส่วนแม่ที่จะเข้ามาเติมเต็มความเป็น แสมดำ คือ แม่เม็ดนุ่น ลักษณะของแม่เม็ดนุ่นมีดีหลายอย่างด้วยกัน คือ เป็น แม่ไก่แสมดำที่มีขนาดใหญ่ ผิวดำค่อนข้างมาก แต่ว่าก็ไม่ถึงกับดำสนิท ปาก ตา แข้ง เล็บ เดือยดำสนิท เหมือนกับ เจ้าหยกดำ คาดหวังว่าลูก ๆ ชุดนี้ ออกมาน่าจะได้เปอร์เซ็นต์แสมดำค่อนข้างสูง

ตอนนี้ แม่เม็ดนุ่นกำลังฟักไข่อยู่ซึ่งไข่ออกมาเก้าฟองแล้ว ทราบว่าขณะนี้ลูก ๆ ไก่ได้ออกมาแล้ว แต่ว่ายังไม่มีรายงานกลับเข้ามาว่า ได้ลูกทั้งหมดกี่ตัว และ ได้ดำ ๆ ออกมากี่มากน้อย ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาไก่ประดู่แสมดำ ซึ่งสิ่งที่คาดหวังคือ ความดำ ที่บ่งบอกลักษณะของแสมดำอย่างครบถ้วน และลูก ๆ ออกมามีเชิงชนที่ดี เพราะว่าไก่ชุดนี้เป็นแสมดำสายตี ไม่ใช่สายประกวด สิ่งที่จะต้องเติมเต็มเข้ามาคือ เรื่องของความสวยงาม พ่อไก่หางไม่ยาว และ หน้า ผิวยังไม่ดำมาก เพียงแต่มีลักษณะคล้ำ ๆ ก็คงต้องค่อย ๆ พัฒนากันต่อ ๆ ไป....

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พลายแก้ว ก๋อย-ง่อน นำเข้าเพื่อเติมเต็ม

เป็นไก่หนุ่ม ๆ สายเลือดดี เหล่าตีเงินแพง เป็นสายเลือด ก๋อย ง่อน ไก่หนุ่ม ๆ นำเข้าเพื่อมาเติมเต็มการพัฒนา เหล่านี้ ตีตัวแรง เข้าไวเหมือนก๋อย สีสันออกไปทางไก่ไทย เป็นไก่รุ่น ๆ 5-6 เดือน เห็นเชิงชนแต่เด็กๆ นั้นวิ่งเข้ากัดเหมือน ก๋อย ตีตัวแรง เบอร์แข้งไปทางง่อน ก็เอาเข้ามาชำไว้รออายุ หากเทสผ่านเบื้องต้น คงได้เป็นพ่อไก่เพราะว่ามั่นใจในสายเลือด และ การพัฒนาจากเจ้าของเหล่าเดิม

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เข้าพรรษา หน้าฝน กับ เรื่องของขนไก่

เข้าพรรษาหน้าฝน ทั้งคนทั้งไก่ ก็เริ่มที่จะหยุดกิจกรรมบางอย่าง หลาย ๆ ท่านใช้โอกาส นี้ปวารณาตัวเองงดดื่มเครื่องดื่มมึนเมาเข้าวัดหลังจากที่ใช้ชีวิต ด้วยความโลดโผนมานาน ตลอดทั้งปีแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ดี ถึงแม้ว่าเป็นระยะเวลาเพียงแค่สั้น ๆ แต่ก็เป็นการสร้างโอกาสในการเริ่มสิ่งดี ๆ ขึ้นก็ได้ ดีกว่าไม่มีโอกาส ในการเริ่มซะเลย หากใครที่ปวารณาในการทำความดีช่วงเข้าพรรษาไม่ว่าเรื่องอะไร ก็ขออนุโทนาด้วย
ที่นี้มาเข้าเรื่องของบรรดาไก่ชนมั่งช่วงนี้ก็เป็นช่วงเวลาที่ไก่ชนส่วนใหญ่ได้มีโอกาส หยุดการต่อสู้ชั่วคราวเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงทางฤดูกาล พอเข้าหน้าฝนบรรดาไก่ชน นักสู้หงอนแดงแข้งติดเดือยทั้งหลาย ก็เริ่มที่จะนัดกันผลัดขน เป็นช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จากไก่ลูกกระแอก็เปลี่ยนมาเป็นไก่หนุ่ม ไก่หนุ่มก็เปลี่ยนมาเป็นไก่หนุ่มใหญ่ ไก่หนุ่มใหญ่ก็จะเข้าวัยไก่รุ่นใหญ่ฉกรรจ์เต็มตัว ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกหนึ่งวัย ตามฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง หลังจากขนเต็มตัวแล้ว ก็ถือว่าบรรดาไก่หนุ่มเหล่านั้นก็จะได้มีการเตรียมความพร้อมของร่างกายเพื่อจะต่อสู้ในวันข้างหน้า ส่วนบรรดาหนุ่ม ๆ ที่เข้าสู่การเป็นลูกแซม หรือ ลูกถ่ายใหญ่ ก็เตรียมตัวมาเข้าสังเวียนเลือดต่อไป
การเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาที่ไก่ได้ถ่ายขนนั้น มีอะไรหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นในตัวไก่ อย่างเช่นเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ร่างกายจะโตขึ้น น้ำหนักมากขึ้น โครงสร้างทางร่างกายหนาขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความเข้มแข็ง และ ความแกร่งไปอีกระดับ อีกสิ่งหนึ่งที่นอกเหนือจากความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่เราเห็นเป็น รูปธรรมได้แล้ว สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบนามธรรม คือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจของไก่เอง เนื่องจากช่วงระยะเวลาที่ไก่ผลัดขนนั้น อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ไก่ชนทั้งหลายได้พักผ่อนร่างกายจากการตรากตรำต่อสู้ในสังเวียนเลือดติดต่อกันเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน เมื่อไก่ได้พิสูจน์ตัวเองระดับหนึ่งว่าควรค่ากับการสืบเผ่าพันธุ์เจ้าของจะปล่อยเพื่อผสมพันธุ์ ปล่อยคุมฝูง มีความเป็นอิสระ ซึ่งช่วงเวลาเหล่านี้เป็นช่วงเวลาที่ไก่มีความสุข ที่ได้อยู่กับฝูงกับตัวเมีย ได้ผสมพันธุ์ ได้ขึ้นชื่อว่าอยู่ในดับสูงสูดในการจัดลำดับทางสังคมของฝูง ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทำให้ไก่ที่ผ่านการถ่ายขน และ การคุมฝูงนั้นก็จะทหให้ไก่ได้มีการพัฒนาทางจิตใจไปอีกหนึ่งขั้น คือจะมีความฮึกเหิมมากกว่าไก่หนุ่มที่ยังไม่เคยคุมฝูง จนกระทั่งขนเต็มสุดสร้อย สุดปีก สุดหาง ก็เป็นเวลาที่เจ้าของต้องจับออกจากฝูงเพื่อกลับมาทำหน้าที่ในสังเวียนอีกครั้ง สิ่งเหล่านี้เองเป็นความแตกต่างระหว่างไก่หนุ่มกับไก่แซม ไก่ถ่าย ความแตกต่างทั้งสอง มิติ คือ ในแง่ของ ร่างกาย และ จิตใจ ไก่ถ่ายย่อมมีมากกว่าไก่หนุ่ม
ไก่ชนเป็นไก่ที่จำเป็นจะต้องมีร่างกายที่แข็งแรงคือ มีประสิทธิภาพในการออกแรงได้มาก ได้นาน เคลื่อนไหวได้เร็ว
แข็งแกร่งคือ มีความทนทานต่อการต่อสู้ ทนต่อความเจ็บปวดได้ดี
และ อีกอย่างคือ สภาวะ ทางจิตใจของไก่ คือ เป็นไก่จิตใจที่พร้อมที่จะต่อสู้ ต้องการเอาชนะ ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ
จะเรียกว่าเป็นความได้เปรียบของไก่ แซมไก่ถ่าย ที่ได้เปรียบไก่หนุ่ม หากจะเรียงตามลำดับ ก็คือ ไก่ลูกถ่าย ได้เปรียบไก่ลูกแซม ไก่ลูกแซมได้เปรียบไก่หนุ่ม ไก่หนุ่มอายุมากกว่าได้เปรียบไก่หนุ่มที่อายุน้อยกว่า
สิ่งเหล่านี้นี่เองที่เป็นสิ่งที่รับรู้กันมาได้สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นไปโดยอัตโนมัติว่า อย่าอาจหาญ เอาไก่หนุ่มไปตีกับลูกอายุ ซึ่งหากเรามอง หากเราพิจารณาจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว จะเห็นถึงการเสียเปรียบของไก่หนุ่มที่มีแก่ไก่ลูกอายุ ซึ่งไม่ได้หมายความไปถึงว่า ไก่ลูกหนุ่มจะสู้ไก่ลูกอายุไม่ได้ เป็นแต่เพียงว่า การที่ไก่ที่มีความเสียเปรียบนั้นโอกาส ที่จะเอาชนะไก่ที่ได้เปรียบอยู่ก็มีน้อยลง การเอาชนะไก่ลูกอายุที่ดีกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ อย่างที่เห็น ๆ กันประจำในสังเวียนการต่อสู้ของไก่ ไก่หนุ่ม ๆ บางครั้งจะเป็นตัวตีมากกว่า แต่ว่าไม่สามารถเก็บไก่ลูกอายุได้ กลับกันหากลูกอายุตีไก่ลูกหนุ่มกลับไม่สามารถทนได้ ทั้งนี้ก็มาจากสภาพเงื่อนไขทางด้านร่างกายที่มีความได้เปรียบกันนั่นเอง ในส่วนของเรื่องจิตใจเองก็เช่นเดียวกัน มีผลกับการแพ้ชนะของไก่มาก พอ ๆ กับเงื่อนไขทางด้านร่างกาย บ่อยครั้งจะเห็นว่าไก่ที่โดนเจ็บ ๆ เท่า ๆ กัน ไก่ลูกอายุนั้นจะมีความอดทนมากกว่าไก่ลูกหนุ่ม ซึ่งหากตีเท่ากันความอดทนต่างกันนั้นปัจจัยที่จะมาชนะกันก็เป็นเรื่องของจิตใจกันแล้ว
ทั้งนี้สิ่งที่กล่าวมามองแค่ความแตกต่างทางด้านความได้เปรียบเรื่องอายุเท่านั้น เราเองจะเห็นเสมอมาว่าการพิจารณาในการเปรียบไก่นั้น องค์ประกอบหนึ่งที่ มือเปรียบไม่เคยมองข้ามคือ ความเป็นไก่ลูกหนุ่ม ลูกแซม และลูกอายุ ของไก่คู่ต่อสู้ที่ต้องการจะตีด้วย เพราะว่าหากได้เปรียบอายุก็มีความได้เปรียบในระดับหนึ่งแล้ว หากส่วน อื่น ๆ พอ ๆ กัน ก็ทำให้มั่นใจได้และมองถึงชัยชนะได้ แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องเพราะว่าการ แพ้ชนะของไก่นั้นมีองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง หนึ่งในนั้นคือเงื่อนไขของการแตกต่างเรื่องอายุนั่นเอง การชนไก่ในสังเวียนเราเองก็จะเห็นเสมอมาว่าเซียนที่เล่นไก่นั้น ก็นำราคาของการเป็นลูกถ่าย ลูกอายุ มาตีราคาต่อรอง ถ้าไก่ตีกันสูสี ส่วนมากราคาก็จะให้ไก่อายุดีกว่าเป็นต่อ ไม่น้อยก็มาก
ที่หยิบยกเรื่องนี้มาเพราะว่า หลังจากหมดหน้าฝนไก่เหล่านี้ก็ต้องทยอยกันเข้าสู่สังเวียน สร้างความคึกคักกับวงการอีกครั้ง ก็เป็นการบ้านสำหรับคนที่เลี้ยงไก่ออกตีล่ะครับ ไก่เก่งที่ผ่านสังเวียนมาแล้วและเสร็จสิ้นภารกิจของการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายถ่ายขน ก็จะออกมาอาละวาดกัน สำหรับท่านที่อุ้มไก่หนุ่มเข้าไปในสังเวียนก็คงต้องระวังไก่ลูกถ่ายให้มากขึ้น เพราะว่านอกจากไก่ลูกถ่ายเหล่านี้จะมีความแข็งแกร่งทางร่างกายแล้ว ยังเชื่อได้เลยว่าต้องเป็นไก่เก่งมาก่อน เพราะว่าหากไก่เหล่านั้นไม่เก่งก็คงคงจะไม่สามารถก้าวผ่านพ้นวัยแห่งการเป็นถ่ายขนแล้วกลับมาสู่สังเวียนอีกได้ คงถูกจำหน่าย ถูกกำจัดพ้น ๆ ซุ้มไปแล้ว ช่วงนี้กระแสการชนไก่ไม่คึกคักเท่าไหร่ หลายสนามได้ข่าวว่าไก่ติดคู่ตีกันไม่มากและ ไม่ครึกครื้นนัก ต่างก็เฝ้ารอการกลับมาของบรรดานักสู้ที่กำลังถ่ายขนเพื่อกลับมากระตุ้นความมีชีวิตชีวาของวงการอีกครั้ง ประมาณ ออกพรรษาถึงปลายปี ก็คงจะเริ่มกลับมาสู่สถาวะปกติอีกครั้ง ก็เตรียมไก่ เตรียมกระสุนไว้สู้กันให้เต็มที่มีความสุขกับการตีไก่นะครับ โชคดีมีชัยตีไก่ได้ตังค์ครับผม

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552

แม่แจ้หงอนพับ เหล่าเขียวเชียงตุง

เป็นไก่สีแปลก ๆ หงอนแปลก ๆ

พ่อมาวิน+แม่เหล่าเขียวเชียวตุง อายุ 3 ปี

เอามาเข้าหวังเห็นความโหดของแข้ง

รอดูผลงานของลูก ๆ กัน ตอนนี้ปล่อยเข้ากับ เพชรร้อยเอ็ด

ได้มาจาก คุณ สุ สุริยันต์ฟาร์ม ปักธงชัย ครับ...

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เจ้าพลายงาม เหลืองหางขาวสายเชิง


ตอนหนุ่ม ๆ ได้หนึ่งไฟต์ แต่พอหลุดแซม คอดังรักษาไม่หาย

เลยได้เดินทาง จาก บรบือ มาเป็นพ่อไก่ที่ร้อยเอ็ด

เป็นไก่เชิงแบบไก่ตราด ค่อนข้างครบเครื่อง ตีพม่าอีสานได้

ตอนนี้ปล่อยเข้ากับแม่ไก่เชิงอีสานอยู่

ด้วยความอนุเคราะห์ จาก พ่อแดง แห่งบรบือครับ...

เจ้าต่วนเป๋ หัวหน้าใหญ่ไก่พิการเต็มสูตร

ต่วนเป๋ เป็น ป่าก๋อย ง่อน รอยเล็ก ๆ

พกพาความพิการมาแต่กำเนิด นิ้วเท้า ดีครึ่ง พิการอีกครึ่ง

โตมาปล้ำได้เห็นฝีมือแล้ว ยังไม่พอใจในความพิการ

เอาตาไปโหม่งเดือยพม่าเข้าให้ เลยเหลือตาขวาข้างเดียว

ปลดระวางเป็นพ่อพันธุ์ เลยได้ พเนจร จากกาญจน์ มาอยู่ร้อยเอ็ด

อยู่ร้อยเอ็ด คนดูแล สงสัย ว่าเอาไก่งี้มาทำไม

เลยล้วงจากเล้าเพาะจากตัวเมียไปวัดแข้งให้พม่า ที่จะเลี้ยงออกตี

ดันไปตีพม่าเลี้ยงตาแตก ร้องออกปาก ต้นอันสาม

กลายเป็นไก่ดัง ของหมูบ้าน ซะงั้น

หวังได้ลูกเยอะ ๆ แต่ว่าท่าจะยาก เพราะว่าดุ เตะตัวเมีย

ผลงานการพัฒนา ของคุณ กุ๊ก จอมโจรร้อยรัก

แห่ง คนพันธุ์ทาง ท่ามะกา